วันศุกร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

ภาษีศุลกากร

ภาษีศุลกากร หรือ Customs Duty เป็นภาษีชนิดที่เรียกว่า กำแพงภาษี หรือ Tariff Barrier คือเป็นภาษีที่ไม่เกิดจากการมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่เป็นภาษีที่สกัดกั้นการไหลบ่าของสินค้าจากต่างประเทศที่จะเข้ามาภายในประเทศ ทั้งนี้ เพื่อปกป้องสินค้าที่ผลิตภายในประเทศไม่ให้ถูกโจมตีจากสินค้าต่างประเทศที่มีคุณภาพดีกว่าแต่ราคาย่อมเยากว่า
ฉะนั้น ภาษีศุลกากรของสินค้าแต่ละตัวจึงมีอัตราที่ไม่เท่ากัน สินค้าใดที่สามารถผลิตภายในประเทศได้ อัตราภาษีขาเข้าของสินค้าชนิดนั้นจะสูง เพราะเราไม่ได้ต้องการที่จะให้ใครนำสินค้าชนิดนั้นมาขายแข่งกับเรา เช่น เสื้อผ้า เป็นต้น ที่จะมีอัตราอากรตั้งแต่ 30-60% ส่วนสินค้าที่เราผลิตเองไม่ได้ หรือต้องการนำเข้า จะมีอัตราที่ต่ำ เช่น เครื่องจักรโรงงาน เป็นต้น มีอัตราอากรตั้งแต่ 0-5% นอกจากนี้ ยังมีเหตุผลอื่นๆ ที่ทำให้ภาษีศุลกากรแตกต่างกันไป เช่น สินค้าที่ส่งเสริมการเรียนรู้หรือเทคโนโลยี เช่น คอมพิวเตอร์ หนังสือ อัตรา 0% สินค้าฟุ่มเฟือย เช่น น้ำหอม เครื่องสำอาง อัตรา 40% สินค้าที่เป็นวัตถุดิบในการผลิต เช่น ไม้ หนังดิบ ไหม สารเคมี อัตรา 0-5%

กิจการภาษี หรือการศุลกากร มีมาตั้งแต่ก่อนสมัยสุโขทัย เรียกว่า จกอบ โดยที่สมัยสุโขทัยนั้น การค้าขายเป็นปัจจัยสร้างความมั่งคั่งของรัฐ และในช่วงระยะเวลาหนึ่งก็มีประกาศยกเว้นภาษีแก่ผู้มาค้าขาย ดังความในศิลาจารึก ว่า เมืองสุโขทัยนี้ดี ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว พ่อเมืองบ่เอาจกอบในไพร่ลู่ทางเพื่อนจูงวัวไปค้า ขี่ม้าไปขาย ใครจักใคร่ค้าช้างค้า ใครจักใคร่ค้าม้าค้า ต่อมาสมัยกรุงศรีอยุธยา หน่วยงานที่ทำหน้าที่ด้านตรวจเก็บภาษีขาเข้าขาออกเฉพาะ เรียกว่า พระคลังสินค้า มีสถานที่สำหรับการภาษี เรียกว่า ขนอน เก็บภาษีจากระวางบรรทุกสินค้าและจากสินค้า ครั้นสมัยกรุงธนบุรี บ้านเมืองอยู่ในยุคสงคราม การค้าขายระหว่างประเทศไม่ปรากฏหลักฐานทางประวัติศาสตร์มากนัก ล่วงถึงยุครัตนโกสินทร์ สมัยรัชกาลที่ 3 มีการประมูลผูกขาดการเรียกเก็บภาษีอากร เรียกว่า ระบบเจ้าภาษีนายอากร ส่วนสถานที่เก็บภาษี เรียกว่า โรงภาษี ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 การติดต่อค้าขายกับต่างประเทศมากขึ้น มีการทำสนธิสัญญาเบาริ่งที่เกี่ยวกับศุลกากร คือ ยกเลิกการเก็บค่าธรรมเนียมปากเรือ เปลี่ยนมาเป็นเก็บภาษีสินค้าขาเข้าที่เรียกว่า ภาษีร้อยชักสาม ส่วนสินค้าขาออกให้เก็บตามที่ระบุในท้ายสัญญาเป็นชนิดไป ทั้งมีการตั้งโรงภาษี เรียกว่า ศุลกสถาน (Customs House) ขึ้นเป็นที่ทำการศุลกากร

ยุคใหม่ของศุลกากรไทยเริ่มในพ.ศ.2417 เมื่อรัชกาลที่ 5 ทรงจัดตั้ง หอรัษฎากรพิพัฒน์ เป็นสำนักงานกลางในการรวบรวมรายได้ของแผ่นดิน งานศุลกากรซึ่งทำหน้าที่จัดเก็บภาษีขาเข้าขาออกเป็นรายได้ของรัฐ อยู่ในความควบคุมดูแลของหอรัษฎากรพิพัฒน์ ส่งงานศุลกากรเจริญเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วตามความเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองและสถานการณ์โลก มีการสร้างอาคารที่ทำการใหม่ให้เหมาะสมขึ้นแทนที่ทำการศุลกากรที่เรียกว่าศุลกสถานเดิมในปี 2497 คือสถานที่ตั้งกรมศุลกากรคลองเตยในปัจจุบัน
ช่วงเวลาที่ผ่านมาอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะด้านการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งกรมศุลกากรมีภารกิจหลักคือจัดเก็บภาษีอากรจากของที่นำเข้ามาในและส่งออกไปนอกราชอาณาจักรเพื่อนำไปพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และดูแล ป้องกัน ปราบปรามการลักลอบหนีศุลกากรเพื่อให้การจัดเก็บภาษีอากรเป็นไปตามเป้าหมายและเกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ประกอบการที่สุจริต

การชำระค่าภาษีอากร ณ กรมศุลกากร

เมื่อระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรได้ออกเลขที่ใบขนสินค้าให้แล้ว สามารถไปชำระค่าภาษีอากร ณ หน่วยการเงินของท่า หรือที่ หรือสนามบินที่นำของเข้า/ส่งของออก โดยแจ้งเลขที่ใบขนสินค้าและจำนวน ค่าภาษีอากร เพื่อยื่นขอชำระค่าภาษีอากรเป็นเงินสด หรือแคชเชียร์เช็คหรือบัตรภาษีเมื่อเจ้าหน้าที่หน่วย การเงินได้รับชำระค่าภาษีอากรแล้ว จะสั่งพิมพ์และลงนามในใบเสร็จรับเงิน เพื่อมอบใบเสร็จรับเงินให้ผู้ชำระ ค่าภาษีอากรทันที

ชำระเงินผ่านธนาคารทางอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Funds Transfer : EFT)
กรมศุลกากรให้บริการรับชำระค่าภาษีอากรในการผ่านพิธีการทางศุลกากรทางอิเล็กทรอนิกส์แบบ ไร้เอกสารแก่ผู้นำของเข้า/ผู้ส่งของออกโดยวิธีหักบัญชีเงินฝากของผู้ชำระเงินจากธนาคารศุลกากร (Customs Banks)ที่ให้บริการและโอนเงินผ่านระบบอัตโนมัติของธนาคารศุลกากร เพื่อนำเงินเข้าบัญชี รับชำระเงินของกรมศุลกากร ซึ่งต้องดำเนินการ ดังนี้
1. ให้แจ้งความประสงค์ขอชำระค่าภาษีอากรโดยระบุหักบัญชีเงินฝากธนาคารพาณิชย์ ของผู้ชำระค่า ภาษีและโอนเงินผ่านระบบของธนาคารศุลกากร เพื่อนำเข้าบัญชีเงินฝากของกรมศุลกากรในขณะส่งข้อมูล ใบขนสินค้าเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากร
2. เมื่อระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรออกเลขที่ใบขนสินค้าให้ ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรจะส่ง ข้อมูลขอหักบัญชีเงินฝากจากธนาคารพาณิชย์ที่ผู้ผ่านพิธีการศุลกากรทางอิเล็กทรอนิกส์แบบไร้เอกสารแจ้ง ไว้ไปยังธนาคารศุลกากร
3. ธนาคารศุลกากรดำเนินการขอหักบัญชีเงินฝากธนาคารพาณิชย์ดังกล่าว และโอนเงินผ่านระบบ ของธนาคารศุลกากร เพื่อนำเข้าบัญชีเงินฝากของกรมศุลกากรที่เปิดไว้กับธนาคารศุลกากร นั้น
4. เมื่อธนาคารศุลกากรสามารถหักบัญชีรับชำระค่าภาษีอากรได้และทำการตอบกลับการนำเงินเข้า บัญชีเงินฝากของกรมศุลกากรแล้ว ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรจะออกเลขรับชำระค่าภาษีอากรและ ส่งกลับข้อมูลให้ผู้ผ่านพิธีการทางศุลกากรทางอิเล็กทรอนิกส์แบบไร้เอกสารทราบพร้อมกับ เปลี่ยนสถานะ ใบขนสินค้าเป็น “ใบขนสินค้าที่ชำระค่าภาษีอากรแล้ว” โดยอัตโนมัติ
5. ผู้นำของเข้า/ผู้ส่งของออก หรือตัวแทนออกของผู้รับมอบอำนาจที่ได้แจ้งชื่อ ลงทะเบียนต่อ กรมศุลกากรขอรับใบเสร็จรับเงินได้ ณ หน่วยบริการศุลกากรที่ตรวจปล่อยสินค้า โดยเจ้าหน้าที่หน่วย การเงินจะเรียกข้อมูลตามวันที่รับชำระและเลขที่ชำระอากรแล้วสั่งพิมพ์พร้อมลงนามในใบเสร็จรับเงิน ของใบขนสินค้าแต่ละฉบับ
6. กรณีไม่สามารถหักบัญชีเงินฝากจากธนาคารพาณิชย์ที่ผู้ผ่านพิธีการศุลกากรทางอิเล็กทรอนิกส์ แบบไร้เอกสารแจ้งไว้ได้ ให้ดำเนินการชำระค่าภาษีอากร ณ กรมศุลกากร
7. ธนาคารศุลกากร (Customs Banks) ที่ให้บริการได้แก่ บมจ.ธนาคารกรุงเทพ บมจ.ธนาคารกรุงไทย บมจ.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา บมจ.ธนาคารกสิกรไทย บมจ.ธนาคารไทยธนาคาร บมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารซิตี้แบงก์ ธนาคารดอยซ์แบงก์ และธนาคารซูมิโตโม มิตซุย แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น

ที่มา : http://news.sanook.com/education/education_297046.php

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น